ทุกวันนี้ประเทศไทยแทบจะเหลือแต่หน้าร้อนหน้าเดียว และเจ้าความร้อนนี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรค “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) หรือ “ลมแดด” ในแมว ซึ่งโรคนี้มีความรุนแรงค่อนข้างสูง และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นทาสแมวอย่างเราๆจึงควรทำความรู้จักกับโรคนี้
โรคลมแดด
เกิดขึ้นจากอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทัน ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นจึงไปกระตุ้นกระบวนการต่างๆที่เป็นผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ระบบหรืออวัยวะภายในต่างๆเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาจนถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุหลัก
มาจากสัตว์เหล่านั้นอยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนมาก เช่น ตากแดดเป็นเวลานาน ถูกขังในห้องที่มีอากาศร้อนและไม่ถ่ายเท เป็นต้น นอกจากนี้การออกกำลังกายท่ามกลางอากาศร้อน การขาดน้ำดื่มในวันที่อากาศร้อน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคลมแดดได้เช่นเดียวกัน

โรคลมแดดเกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้เกือบทุกชนิด
เช่น แมว สุนัข กระต่าย กระรอก หนูแฮมสเตอร์ หรือแม้แต่ปลาโลมา เป็นต้น ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ สัตว์เลี้ยงที่มีร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว เช่น แก่ชรา อ้วน พันธุ์ขนยาว ขนหนา หรือสัตว์ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

อาการ
- มีอาการอ้าปาก หอบ หายใจรุนแรง กระวนกระวาย
- ตัวร้อนกว่าปกติ หรือสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส (105 องศาฟาเรนไฮต์)
- จมูกเปียก น้ำลายไหลยืด
- มีอาการนอนนิ่ง จนไปถึงช๊อค ชัก เกร็ง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ย้ายสัตว์ป่วยออกจากสภาวะแวดล้อมที่มีอากาศร้อน
- ถอดเสื้อ สายรัดคอออกจากตัวสัตว์ที่ป่วย
- เปิดพัดลมเป่า ไปจ่อสัตว์ที่ป่วย
- ใช้น้ำเย็น”ธรรมดา”อาบ หรือเช็ดตัวสัตว์ที่ป่วย เพื่อระบายความร้อน
- ถ้าสัตว์ป่วยยังมีสติอยู่ ให้สัตว์ดื่มน้ำเย็น แต่ห้ามบังคับในกรณีที่สัตว์ป่วยไม่ยอมหรือหมดสติ
- รีบนำสัตว์ป่วยไปส่งโรงพยาบาล
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการปล่อยเจ้าเหมียวไว้ในที่ๆอากาศร้อนและไม่ถ่ายเท
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด
- มีน้ำสะอาดให้กินได้ตลอดเวลา
- ในวันที่มีอากาศร้อนจัดอาจปล่อยให้สัตว์อยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดพัดลมให้
